ทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนที่ได้รับการขนานนามจากนักวิทยาศาสตร์ว่า “โมเลกุลมหัศจรรย์” เพราะเป็นโมเลกุลอิสระที่จะไม่รวมตัวกับโปรตีน และมีคุณสมบัติที่โดดเด่นที่จำเป็นต่อการทำงานระดับเซลล์มาก ๆ ทอรีนพบมากที่ หัวใจ สมอง ดวงตา (ชั้นเรตินา) ระบบภูมิต้านทาน
ปัจจุบันจัดเป็นสารอาหารจำเป็นบางสภาวะ (conditional essential) ซึ่งปกติร่างกายผลิตได้แต่ในบางภาวะร่างกายผลิตไม่ได้ต้องได้จากการรับทานอาหารเสริมเข้าไป เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด ผู้ที่ขาดวิตามินบี6 ผู้ที่ขาดเอ็นไซม์ CSAD โรคตับเรื้อรัง ผู้ที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยหนัก ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคตับแข็ง ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยหลังจากได้รับเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เป็นต้น
หน้าที่ของทอรีน
จะทำหน้าที่แตกต่างกันระหว่างที่ร่างกายสร้างขึ้นกับได้รับจากอาหาร
1. ที่ได้จากร่างกายสร้างขึ้น ใช้รวมตัวกับกรดน้ำดีเพื่อให้ได้เกลือน้ำดี (bile salt) ใช้ย่อยไขมันและป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
2. ที่ได้จากการรับประทาน จะถูกนำไปใช้สร้างหรือนำไปใช้ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
บทบาทของทอรีนในโภชนาการบำบัด
ตั้งแต่มีการค้นพบทอรีนโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันในปี ค.ศ.1827 เป็นต้นมา ได้มีงานวิจัยต่อเนื่องถึงการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของทอรีนในร่างกายมนุษย์และในสัตว์ มุ่งเน้นในการนำทอรีนมาใช้บำบัดอาการเจ็บป่วย รวมถึงการป้องกันการเจ็บป่วยและชะลอการเสื่อมของร่างกาย จนในปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแล้วในประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างบทบาทของทอรีนในโภชนาการบำบัดที่มีการเผยแพร่ในวารสารน์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องที่น่าสนใจมีดังนี้
1. ประสาท สมอง
- สมองและหลอดเลือดสมอง ทอรีนช่วยควบคุมความเป็นพิษของกลูตาเมตในสมองที่หลั่งมากกว่าปกติทั้งจากความเครียดหรือสาเหตุอื่น ซึ่งจะทำลายเซลล์สมองให้เสียหายและทำให้หลอดเลือดเกิดภาวะตีบ สมองขาดเลือด โดยทอรีนจะทำหน้าที่เป็นสารป้องกันระบบประสาทและควบคุมความสมดุลของแคลเซียมไม่ให้เข้ามากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นทอรีนยังช่วยลดการบวมของเซลล์เยื่อหุ้มสมองอีกด้วย
- ระบบประสาทส่วนกลาง ทอรีนทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทและเป็นสารป้องกันระบบประสาทที่อาจเสียหายจากสารพิษ สารเคมีหรือสาเหตุอื่น โดยเฉพาะในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ที่ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของระบบอื่นๆในร่างกาย ทอรีนยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของ cyclic AMP (ระบบการส่งสัญญาณที่2) ให้สมบูรณ์ถูกต้อง เช่นร่างกายได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก (จากสัญญาณที่1) แล้วประสาทจะสั่งการ(สัญญาณที่2) ให้ระบบของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น
- โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน มีรายงานว่าปริมาณทอรีนในไขสันหลังที่ลดลงมีความสำพันธ์กับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้น ในหนูทดลองการเพิ่มทอรีนสามารถช่วยฟื้นฟูความจำและการเรียนรู้ดีขึ้นอย่างมาก
- โรคลมชัก เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างสารสื่อประสาทที่กระตุ้นและยับยั้ง สภาวะสมองตื่นตัวมากกว่าปกติจึงเกิดอาการชัก ทอรีนที่มีอยู่มากในเซลล์สมองจะเป็นตัวยับยั้งเซลล์ประสาท ทำให้ระงับอาการชักจึงอาจช่วยรักษาโรคลมชักได้
- โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสมองและประสาทอื่น ๆ โรคเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ สมาธิสั้น ออทิสติก จากงานวิจัยทั้งในมนุษย์และสัตว์ทดลองพบว่าทอรีนมีบทบาทที่สำคัญในการป้องกันและรักษาอย่างมีนัยสำคัญ
2. สายตา การได้ยิน
- ปกป้องดวงตา ทอรีนช่วยการงานของเรติน่าและจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของเซลล์ปมประสาทของจอประสาทตา และช่วยปกป้องอันตรายจากแสง เมื่อระดับทอรีนไม่เพียงพอปัญหาการมองเห็นอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการเสื่อมของเซลล์ปมประสาทจอประสาทตาทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก มีหลักฐานยืนยันว่าทอรีนมีความสำคัญในการรักษาการทำงานของจอประสาทตาให้ดีที่สุด จึงช่วยป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตาที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นและลดภาวะเบาหวานขึ้นตาอีกด้วย งานวิจัยยังพบว่าระดับทอรีนต่ำมีความสำพันธ์กับการเกิดต้อกระจก
- อาการหูอื้อและความผิดปกติของการได้ยิน โดยทั่วไปความเสียหายต่อการได้ยินเกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทที่เปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งสมองจะรับรู้ ซึ่งมีเซลล์ขนเป็นเซลล์รับความรู้สึก (sensory receptor) ในหูชั้นใน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการไหลของแคลเซียมเข้าและออกที่เหมาะสมโดยมีทอรีนช่วยควบคุม ดังนั้นทอรีนจึงมีส่วนช่วยป้องกันการสูญเสียการได้ยินและมีผลในการควบคุมหูอื้อ
3. หัวใจและหลอดเลือด
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ทอรีนได้รับการรับรองสำหรับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในญี่ปุ่น ในกล้ามเนื้อหัวใจมีทอรีนมากกว่า 50% ของกรดอะมิโนอิสระในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของแคลเซี่ยมและโซเดียมให้สมดุล จึงช่วยในการเต้นหัวใจผิดจังหวะ เพิ่มประสิทธิภาพการบีบตัวและการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยลดอาการบวมของกล้ามเนื้อหัวใจและภาวะหัวใจขาดเลือด จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าการบริโภคทอรีนในอาหารมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง ทอรีนช่วยปกป้องเซลล์บุผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อหลอดเลือดจากความเป็นพิษที่เกิดจากไขมันเลว (LDL) และปฏิกริยาออกซิไดซ์ ทอรีนช่วยปกป้องเซลล์บุผนังหลอดเลือดจากความเครียดและการตายของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกิดจากโฮโมซิสเทอีนโดยการลดภาวะไขมันในเลือดสูง การเสริมทอรีนจะช่วยเร่งการลดระดับคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดลงได้
- ความดันโลหิต ในการศึกษาบางชิ้นงานแสดงให้เห็นว่าระดับทอรีนต่ำมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อระดับทอรีนในเลือดต่ำกว่าปกติโปรตีนที่เรียกว่าแองจิโอเทนซิน (angiotensin) จะถูกปล่อยออกมาทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น การเพิ่มระดับทอรีนมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง
4. การเผาผลาญ ไขมัน น้ำตาล
- โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและการลดลงของอินซูลินในพลาสมา โดยเบาหวานประเภท1 การผลิตอินซูลินในตับอ่อนลดลง เบาหวานประเภท2 ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานพบว่าระดับทอรีนจะต่ำกว่าคนปกติทั่วไปซึ่งหากขาดทอรีนร่างกายจะไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน และทอรีนยังมีผลทำให้ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดในเบาหวานชนิดที่1 ได้ ซึ่งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดจะทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด จากการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยป้องกันและรักษาเบาหวานชนิดที่2 ได้ และทอรีนยังป้องกันความเสียหายของไตจากเบาหวานได้ทั้งแบบจำลองในสัตว์และเซลล์มนุษย์
- ช่วยลดระดับคอเรสเตอร์รอลในเลือด ทอรีนจะรวมกับกรดน้ำดีได้เป็นเกลือน้ำดี (bile salt) ซึ่งจะช่วยจับกับคอเรสเตอรอลและขับออกทางอุจจาระ
- ช่วยลดน้ำหนักและโรคอ้วน ผลที่ตามมาของโรคอ้วนส่งผลกระทบเกือบทุกส่วนของร่างกายของเรา ในงานวิจัยพบว่าทอรีนช่วยลดน้ำหนักตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ทอรีนมีคุณสมบัติในการช่วยลดระดับไขมันในกระแสเลือดและช่วยเพิ่มความสามารถของร่างกายในการรับมือกับกลูโคสส่วนเกินในกระแสเลือดการลดไขมัน ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ หลอดเลือดและเบาหวานอีกด้วย
- กล้ามเนื้อเสื่อมอ่อนแรง การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่มือและเท้า เป็นภาวะที่เกิดจากการคลายตัวที่ล่าช้าหลังจากการหดตัวของกล้ามเนื้อโครงสร้าง จึงเกิดอาการล็อคหรืออาการเกร็งของของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ การเพิ่มระดับทอรีนสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้มีประสิทธิภาพ และยังลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง
- การออกกำลังกาย ทอรีนช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้หนักขึ้นนานขึ้นและปลอดภัยขึ้น เพิ่มความสามารถในการหดตัวของกล้ามเนื้อทั้งภายในหัวใจและข้อต่อส่งผลให้ออกกำลังกายได้อย่างมีพลัง ทอรีนยังช่วยขจัดกรดแลคติกที่สร้างขึ้นทำให้ออกกำลังกายได้นานและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
5. ตับและการล้างพิษ
- การป้องกันตับและรักษาตับอักเสบ ไขมันพอกตับ ตับเป็นอวัยวะหลักของร่างกายในการล้างพิษเพื่อกรองสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายออกจากกระแสเลือดเมื่อผ่านเข้าไป จากการศึกษาระบุว่าทอรีนช่วยรักษาภาวะตับอักเสบและปกป้องความเสียหายเซลล์ตับจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าเซลล์ตับจะกำจัดสารประกอบที่เป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยในโรคไขมันพอกตับทั้งที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับได้
- ปกป้องเนื้อปอด ไม่ให้ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระและควันบุหรี่
6. ฮอร์โมน ภูมิต้านทาน
- เสริมระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง ช่วยในการแบ่งเซลล์ของลิมโฟไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วย T cells, B cells, natural killer (NK) cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่อยู่ในน้ำเหลือง ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม สร้างภูมิคุ้มกันและทำลายเซลล์ซึ่งอาจจะกลายเป็นมะเร็ง ทอรีนยังมีบทบาทช่วยการหลั่ง Interleukin-1 ช่วยเรื่องการอักเสบ กำจัดสารพิษและจุลชีพ เพิ่มความสามารถ NK cell ในการสลายเนื้องอก มีฤทธิ์ต่อเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดโรค เช่น เบาหวาน ไต ข้ออักเสบ กระดูกพรุนเป็นต้น
- ส่งเสริมการหลั่งโกรทฮอร์โมน เพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายของร่างกายและช่วยการทำงานของเอนไซม์การขาดโกรทฮอร์โมนมีผลทำให้เกิดการแก่ชรา และโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความชรา
7. การอักเสบ กระดูก
- โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์และโรคข้อเข่าเสื่อม อาการที่สำคัญของโรคข้ออักเสบคือความตึงของข้อต่อและความเจ็บปวดจากการอักเสบของข้อต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีลักษณะการอักเสบและการแพร่กระจาย การกระตุ้นกระบวนการอักเสบเป็นส่วนหนึ่งของความผิดปกติของภูมิต้านทานเนื้อเยื่อที่ก่อให้เกิดการผิดรูปของข้อต่อการสึกกร่อนของกระดูกทำให้กระดูกบางลงและการหยุดชะงักของส่วนต่อประสานกระดูกอ่อน โดยทอรีนจะมีประสิทธิภาพรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลันและช่วยต้านการอักเสบได้
- โรคกระดูกพรุน จากการศึกษาของสถาบันการแพทย์ระดับโมเลกุลฟินแลนด์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงบวกทางสถิติโดยชี้ให้เห็นว่าวิตามินบี12 ที่ช่วยสังเคราะห์ทอรีน มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระดูกในมนุษย์ทุกวัย ซึ่งอาจเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคกระดูกพรุน
8. ประโยชน์อื่น ๆ
- ควบคุมการแลกเปลี่ยนอิออนแร่ธาตุผ่านเซลล์ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและยังช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรง
- ระบบสืบพันธุ์ ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนเพศโดยมีสังกะสี (Zinc) เป็นตัวส่งเสริมการออกฤทธิ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น และเพิ่มการเคลื่อนไหวของเชื้ออสุจิช่วยในการมีบุตร ในเพศหญิงจะพบทอรีนที่สูงในระบบสืบพันธุ์ที่ปกติ
- ช่วยโรคและภาวะผิดปกติอื่น ๆ เช่นพิษสุราเรื้อรัง ถอนพิษแอลกอฮอร์ ไฮเปอร์ไทรอยด์ โรคมะเร็ง ความผิดปกติของไต ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดรวมทั้งการฉายรังสีรักษา การดูดซึมไขมันบกพร่อง เป็นต้น
แหล่งอาหารที่มีทอรีน
ทอรีนมีในพืชในปริมาณที่น้อยมากอาจเรียกได้ว่าไม่มีเลย ประมาณ 0.01 ไมโครโมล/กรัมของส่วนที่เป็นสีเขียวเท่านั้น ทอรีนจะพบได้ในสัตว์ โดยเฉพาะจำพวกหอยต่าง ๆ (shellfish) ปกติผู้ใหญ่ต้องการทอรีนเฉลี่ยวันละ 125-500 ppm นอกจากนี้ทอรีนยังพบได้มากในสาหร่ายทะเล โดยเฉพาะสาหร่ายแดง และยังพบในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งในแมลง ข้อควรระวัง ปริมาณทอรีนจะลดลงอย่างมากเมื่อนำวัตถุดิบมาปรุงอาหารด้วยการอบหรือต้ม โดยทอรีนอาจลดลงมากกว่า 50%
อ้างอิง
- บทบาทของทอรีนในโภชนบำบัด (วารสารโภชนบำบัด, 2548)
- ทอรีน (วารสารโภชนบำบัด, 2547)